หญ้าแฝก เป็นหญ้าเขตร้อนที่ขขขขข้นอยู้ตามธรรมชาติขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป ในประเทศไทยเราจะพบหญ้าแฝกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่จากที่ลุ่มจนถึงที่ดอนสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด หญ้าแฝกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chysopon zizanioides (L.) Roberty เป็นพืชวงศ์หญ้า ขึ้นเป็นกอหนาแน่น เจริญเติบโตโดยการแตกกออย่างรวดเร็ว ความสูงจากยอด 0.5 ถึง 1.5 เมตร ลักษณะใบแคบยาว 75 เซนติเมตร ความสูงจากยอด75 เซนติเมตร ความกว้าง 8 มิลลิเมตร หากนำมาปลูกติดต่อกันเป็นแนวยาวขวางแนวลาดเทของพื้นที่จะแตกกอติดต่อกันได้เหมือนแนวรั้วที่มีชีวิต สามารถกรองเศษพืชและตะกอนดินซึ่งถูกน้ำชะล้างพัดพามาตกทับถมติดอยู่กับกอหญ้าเกิดเป็นคันดินธรรมชาติได้
หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก เจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าออกทางด้านข้าง และมีจำนวนรากมากจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี รากจะประสานติดต่อกันแน่นหนาเสมือนกำแพงใต้ดินสามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้ โดยทั่วไประบบรากแผ่ขยายกว้างเพียงประมาณ 50 เซนติเมตร โดยรอบกอเท่านั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง จัดเป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ดินมีความชื้นและรักษาหน้าดินเพื่อใช้สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจได้ การใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ง่ายในการปฏิบัติ เกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองและมีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาระบบเกษตรกรรมในเขตพื้นที่เกษตรน้ำฝนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน สามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เช้่น พื้นที่สองข้างทางคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ป่าไม้ ป้องกันขอบตลิ่ง คอสะพาน ไหล่ถนน เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง: สาระน่ารู้เรื่องหญ้าแฝก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ